ทุเรียน
ทุเรียนอัดแน่นไว้ด้วยประโยชน์และรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ถึงเพียงนี้ ทุเรียนจึงเป็นดั่งผลไม้ระดับตำนานที่ถูกเรียกขานว่า “ราชาแห่งผลไม้” มานานแสนนาน การกินทุเรียนสำหรับผู้ที่ชื่นชอบจึงไม่ใช่แค่ความอร่อยอย่างเดียว แต่ถ้ากินได้ถูกวิธีจะเป็นผลไม้ที่ช่วยสุขภาพได้อีกชนิดหนึ่งในชีวิตด้วย ซึ่งทุเรียนมีสารอาหารหลักๆ ที่ช่วยร่างกายดังนี้
- คาร์โบไฮเดรตสุขภาพ (Complex carbohydrate) มีดัชนีน้ำตาล (GI) พอสมควร - เส้นใยอาหาร (Dietary fiber) มีชนิดสำคัญที่ละลายน้ำได้ (Soluble fiber)
- สารต้านอนุมูลอิสระ กลุ่มสำคัญคือ “โพลีฟีนอลส์”
- วิตามิน เบต้าแคโรทีน วิตามินบี และซี
- แร่ธาตุโพแทสเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก
ทั้งหมดนี้รวมกันในสัดส่วนที่พิเศษ จึงทำให้ผลไม้ในตำนานชนิดนี้มีกลิ่น และรสสัมผัสที่ยากจะลืมเลือน พร้อมทั้งประโยชน์ต่อสุขภาพที่เป็นความพิเศษเฉพาะตัวดังต่อไปนี้
1. คุมไขมันได้ เป็นงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่พบว่า ทุเรียนป้องกันการเพิ่มของไขมันในเลือด แต่มีข้อแม้ว่า ต้องไม่รับประทานมากเกินไปด้วย โดยในทุเรียน “หมอนทอง” มีพระเอกลดไขมันชื่อ “โพลีฟีนอลส์ (Polyphenols)” แต่ท่านที่ไม่ปลื้มทุเรียน ก็เลือกทานในพืชอื่น อย่างอะโวคาโดและมะม่วงได้
2. ทุเรียนมีวิตามินสูง ทั้งเบต้าแคโรทีน กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี และแร่ธาตุที่จำเป็นต่างร่างกาย ซึ่งหลายชนิดอยู่ในปริมาณที่น่าประทับใจ ยกตัวอย่าง วิตามินซีที่เท่ากับ 1 ใน 3 ของร่างกายต้องการ (33%RDA) เพียงแค่ท่านรับประทานทุเรียนราว 1 ขีดเท่านั้น
3. ทุเรียนต้านสนิมแก่ เพราะมีทั้งโพลีฟีนอลส์ และ “สารประกอบกำมะถัน (Organosulfur compound)” ที่ช่วยทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด และยังช่วยให้ผิวพรรณดี เส้นผมเงางามแข็งแรง
4. ทุเรียนช่วยสมอง เป็นผลไม้อารมณ์ดีเพราะมีสารที่มีส่วนช่วยสร้างเคมีสมองที่ช่วยความรู้สึก สงบสบายใจ มีส่วนช่วยในการสร้างเคมีนิทรา (เมลาโทนิน) เพราะในทุเรียนมี “ทริปโตแฟน (Tryptophan)” เช่นเดียวกับในพืชแป้งอีกหลายชนิด โดยทริปโตแฟนเป็นวัตถุดิบในการสร้างเคมีสมอง (Serotonin) ที่ช่วยปรับอารมณ์
5. ทุเรียนให้พลังงานได้ดี มีทั้งพลังงานจากน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตในเนื้อแน่นๆ ของทุเรียนจึงทำให้อิ่มได้อย่างแรง นอกจากนั้น ยังมีแร่ธาตุที่ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ กระฉับกระเฉงดี นั่นคือ “โพแทสเซียม” เนื่องจากทุเรียนมีแคลอรีสูงจึงไม่ควรรับประทานมากเกินไปหรือร่วมกับของหวาน อื่น
6. ทุเรียนช่วยระบาย ด้วยใยอาหารที่ดีต่อลำไส้จำนวนมหาศาลในทุเรียน โดยในเนื้อทุเรียนพูอ้วนนี้มีใยอาหารชนิดที่ช่วยในการกระตุ้นการทำงานของ ลำไส้ให้เป็นปกติ ซึ่งผู้ที่รับประทานทุเรียนจะมีการขับถ่ายที่ดีได้ ถ้ายิ่งออกกำลังกายร่วมด้วย
7. ช่วยดูแลโลหิตจาง ทุเรียนมีวิตามินบีที่สำคัญคือ “โฟเลต” ที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาโลหิตจาง นอกจากนั้นยังมีแร่ธาตุที่ช่วยสนับสนุนอีกหลายแรงได้แก่ “ธาตุเหล็ก” และ “ทองแดง” ที่ช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดสมบูรณ์แบบ
8. มีแคลเซียมเติมกระดูก ทุเรียนเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยแร่ธาตุ โดยชนิดที่สำคัญตัวหนึ่งคือ “แคลเซียม” ครับ ซึ่งในผู้ที่มีปัญหาเรื่องฮอร์โมน หรือสาวๆ ที่ต้องการสะสมกระดูก (Bone banking) เอาไว้ให้แข็งแรงในอนาคต ทุเรียนเป็นอีกแหล่งของแคลเซียมและแร่ธาตุบำรุงกระดูกอื่นๆ จากธรรมชาติที่ดี
9. เบาหวานต้องระวัง ในเนื้อที่เหมือนเนยชั้นดีหวานมันอร่อยนี้ มีปริมาณน้ำตาล “ฟรุกโตส” อยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้มีผลต่อ “ตับ (มันจุกตับ)” และ “โรคอ้วน” รวมถึงสุขภาพโดยรวมหากได้รับมากเกินไป โดยเฉพาะในเบาหวาน จะทำให้น้ำตาลสูงถึงขั้นอันตรายได้ถ้ารับประทานเพลินเกินห้ามใจ
10. ไม่ควรกินทุเรียนกับแอลกอฮอล์หรือยา มีรายงานอาการผิดปกติเมื่อกินทุเรียนร่วมกับแอลกอฮอล์ อาทิ ร้อนวูบวาบตามหน้า, สั่น, ง่วงซึม, อาเจียน และคลื่นไส้ ซึ่งต่อมามีการศึกษาพบกลไกที่น่าห่วงคือ ทุเรียนไปหยุดเอนไซม์ที่ช่วยล้างพิษเหล้า (Aldehyde dehydrogenase) จนทำให้พิษเหล้าแผลงฤทธิ์ (Acetaldehyde intoxication)
ส่วนเรื่องกินยานั้นไม่ควรรับประทานคู่กันเพราะอาจส่งผลต่อฤทธิ์ และการดูดซึม ทุเรียนแม้จะมีหลายพันธุ์แต่ส่วนใหญ่จะมีสารอาหารสำคัญอยู่คล้ายคลึงกัน โดยแต่ละพันธุ์ก็มีความพิเศษของตัว ดังเช่นหมอนทองที่ทั้งอร่อยและป้องกันไขมันเพิ่มได้ในการทดลอง หรืออย่าง “ทุเรียนสีเลือด” ที่เนื้อมีสีแดงสวย พบไม่บ่อยในบ้านเราแต่มีในแถวภาคใต้และเพื่อนบ้านในแถบคาบสมุทรมลายู อย่างมาเลเซียหรือไกลออกไปถึงอินโดนีเซีย ซึ่งทุเรียนแดงนี้มีของดีอยู่ที่สีสวยนี้ด้วย
ตอนนี้ทุเรียนเริ่มมีมากให้เห็นตามตลาดแถวบ้าน ส่วนราคาก็ต่างกันออกไป ท่านที่สนใจก็อาจไปหามาฉลองศรัทธาดูได้ นับเป็นของดีแบบไทยๆ ที่อยู่ใกล้ตัว
โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ขอขอบคุณข้อมูล จาก คนสู้โรค ไทยพีบีเอส.
www.edtguide.com
10 เรื่องควรรู้คู่ทุเรียน
Reviewed by @monrudee
on
12:03 AM
Rating: