กินปลาลดเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ

"กินปลาลดเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ"


ชี้ทั้ง ปลาทะเล - น้ำจืด คุณค่าสารอาหารไม่ต่างกัน

เบาหวาน” หนึ่งโรคฮิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และเป็นโรคที่ต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารเป็นสำคัญ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ต้องควบคุมอาหารและน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่ออาหารเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วอาหารประเภทไหนล่ะ!!! ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แล้วอาหารประเภทไหนบ้าง ที่เหมาะกับผู้ที่รักสวยรักงาม รักหุ่นเพรียวๆ ไม่ปรารถนาที่จะเผชิญกับโรคนี้

- ภาวะปัจจุบันอาหารการกินเปลี่ยนแปลงไป มีให้เลือกกินมากขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานหรือคนที่ไม่อยากอ้วนลงพุง ก็มัวแต่หันมาบริโภคไอ้พวกอาหารที่มีไขมันน้อย คอเรสโตรอลน้อย เพื่อหวังจะลดน้ำหนักหรือไม่ให้อ้วนจนเกินไป จนมองข้ามอาหารบางอย่างที่มีแต่ประโยชน์ คุณค่าทางอาหารก็ล้นหลามแถมไม่ทำให้อ้วน อย่าง “ปลา” ที่สำคัญราคาก็ไม่แพงอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จับมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิปดี กรมประมง กระทรวงพาณิชย์และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดนิทรรศการ “กินปลาไร้พุงต้านโรคเบาหวาน” ขึ้นเนื่องจากในวันที่ 14 พ.ย.นี้ เป็นวันเบาหวานโลก อีกทั้งในปัจจุบันพบคนไทยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆอีกด้วย

โดย พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเบาหวานมีอย่างน้อย 194 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ล้านคน ในอีก 17 ปีข้างหน้า ส่วนในประเทศไทยพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว 3 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโรคระบุว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่อันตรายมากกว่าโรคเอดส์ เพราะพบผู้เสียชีวิตถึงราวปีละ 3.2 ล้านคน ส่วนเอดส์เพียง 3 ล้านคน/ปี



“เบาหวานที่พบบ่อย มักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดในผู้ใหญ่ที่อ้วนหรือคนอ้วนลงพุง ที่ออกกำลังกายน้อย การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และยังไม่ออกกำลังกายอีก นั้นเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคนี้ วิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน คือการส่งเสริมให้คนไทยบริโภคปลามากขึ้น เพราะปลาเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูก นอกจากนี้ยังมีการวิจัยของหลายๆ สถาบันสนับสนุนว่าการบริโภคปลาหรืออาหารที่มี โอเมก้า-3 สูงสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ได้” หมอชนิกากล่าว

ด้าน ศ.นพ. สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิกและโรคเบาหวาน โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และที่ชัดเจนที่สุดคือคนส่วนใหญ่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และนั่นก็คือตัวการที่นำพาโรคต่างๆ อีกมากมายหลายโรคมาสู่ตัวเรา เช่น โรคเบาหวาน ปวดตาข้อ โรคหัวใจและอื่นๆ โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ต้องรับประทานอาหารที่มีโคเรสโตรอลต่ำ และปลาก็เป็นหนึ่งในอาหารที่มีโคเรสโตรอลต่ำ ย่อยง่าย และที่สำคัญเนื้อปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองอย่างมาก

“นอกจากเนื้อปลาแล้ว ไขมันปลาก็ยังมีประโยชน์ เป็นแหล่ง โอเมก้า-3 ที่สำคัญ ที่หลายคนคิดว่ามีแต่ในปลาทะเลเท่านั้น แต่จริงๆแล้วมีอยู่ทั้งในปลาน้ำจืดและปลาทะเล โดยโอเมก้า-3 จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน เพราะจะลดการเกาะตัวของเม็ดเลือดในร่างกายคนเรา” ศ.นพ. สุรัตน์กล่าว

หมอสุรัตน์ กล่าวต่อว่า การเลือกบริโภคปลานั้น จะต่างจากการเลือกเนื้อสัตว์อื่นๆ เวลาเราเลือกซื้อเนื้อหมูหรือเนื้ออื่นๆ เราจะเลือกที่มีมันน้อยๆ แต่ถ้าเราเลือกปลาเราต้องเลือกที่ตัวใหญ่ๆ มีไขมันมาก เพราะไขมันเหล่านั้นคือประโยชน์ทางร่างกายทั้งสิ้น ส่วนชนิดของปลาที่ให้ประโยชน์มากที่สุดคือปลาสวาย มีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ซึ่งมากกว่าปลาทะเลเสียอีก จึงอยากแนะนำให้หันมาบริโภคปลาน้ำจืดในบ้านเรา เพราะมีราคาต่ำ แต่มีคุณประโยชน์ที่สูง แถมช่วยลดการบริโภคปลานำเข้า ที่คุณค่าทางอาหารจะลดลงไปเมื่อถูกแช่แข็ง และที่สำคัญยังไม่พบการแพ้ปลาน้ำจืด เหมือนกับปลาทะเลอีกด้วย

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นปลาน้ำจืด หรือปลาน้ำเค็มก็มีคุณค่าไม่แตกต่างกันมาก แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ปลาน้ำเค็มนั้นจะมีไอโอดีนสูง แต่ก็จะมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารตกค้างในทะเลอย่าง สารปรอท สารตะกั่ว

สำหรับปลาน้ำจืดนั้น มีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการเลี้ยงที่ไม่สะอาด แต่ปัจจุบันมีการจัดการในระบบการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องได้คุณภาพ อีกทั้งหลายๆ แหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดยังได้รับเครื่องหมาย Q ที่เป็นการรับรองการผลิต ที่มีความปลอดภัย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค

“หลายคนที่ชอบบริโภคไข่ปลาก็เป็นประโยชน์เช่นกัน แต่อยากเตือนไปถึงคนที่เป็นโรคหัวใจให้ระวังและควบคุมการบริโภคไข่ปลาเพราะ ในไข่ปลานั้นมีโอเมกา-3 สูง แต่ก็มีคอลเลสเตอรอลสูงเช่นกัน สำหรับการปรุงเมนูปลา ที่มีคุณประโยชน์ที่สุดอยู่ที่การต้ม หรือนึ่ง ที่จะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารอย่างครบถ้วนที่สุด โดยให้หลีกเลี่ยงเมนูทอดให้มากที่สุด ทั้งนี้ควรมีการบริโภคอาหารที่มีเมนูปลาอย่างน้อย 2 มื้อ/สัปดาห์ แต่หากบริโภคได้ทุกวันก็จะดีที่สุด” หมอฆนัทกล่าว

เมื่อปลาในบ้านเรามันมีประโยชน์ไม่แพ้ปลาต่างชาติอย่างนี้ แถมราคาก็ไม่แพง แล้วจะรีรออะไรอีก คงต้องรีบพากันไปตลาดซื้อปลามาทำอาหาร และที่สำคัญยังเป็นอาหารที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยอีกด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง วันนี้คุณกินปลาแล้วหรือยัง

ที่มาของบทความและรูป ::  ชมรมคนรักสุขภาพ

กินปลาลดเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ กินปลาลดเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ Reviewed by @monrudee on 1:04 AM Rating: 5
Break
Powered by Blogger.